12 เป้าหมายร่วม จังหวัดอุตรดิตถ์

ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน
⭐️

 12 เป้าหมายร่วม จังหวัดอุตรดิตถ์ 

นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ มอบนโยบายการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ “12 เป้าหมายร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์”

โดย 12 เป้าหมายร่วมฯ เป็นการล้อมาจากนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของสหประชาชาติ หรือ UN โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand)

ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัด โดยแยกตามมิติของ SDGs ดังนี้

1. การพัฒนาคน (People)

1. “เมืองสุขภาวะทุกช่วงวัย” ได้แก่ การพัฒนาเมืองให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดอุตรดิตถ์มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 21.05 ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของจังหวัดอุตรดิตถ์ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในเรื่องของสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของเด็ก ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังของประเทศ และทุกๆช่วงวัย

2. “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระบบ การลดจำนวนและปัญหาเด็กนอกระบบ การส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสร้างนิสัยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. สิ่งแวดล้อม (Planet)

3. “จังหวัดสะอาด” โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจะตัวหลักในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีนโยบายให้มีการส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์
4. “เมืองสิ่งแวดล้อมดี ป่าสมบูรณ์” โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน (การลดจำนวนจุด Hot Spot) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำลายพื้นที่ป่าไม้ นอกจากนี้ในเรื่องของคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) หลายพื้นที่

5. “การบริหารจัดการน้ำ” ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และการกระจายน้ำให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ในจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์

3. เศรษฐกิจ (Prosperity)

6. “เมืองผลไม้คุณภาพ เกษตรปลอดภัย” จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย มีไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมีได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้วจำนวน 3 ชนิด คือ ทุเรียนหลงลับแล ทุเรียนหลินลับแล และสับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

7. “อุตรดิตถ์เที่ยวได้ทั้งปี / 365 วัน ที่อุตรดิตถ์” เน้นการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การสร้างการรับรู้และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การมีกิจกรรมหรือ event ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ จึงเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

8. “เศรษฐกิจฐานรากเจริญเติบโต” การนำอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้รับการยอมรับในอีกระดับหนึ่งจะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค รวมไปถึงการตลาดสมัยใหม่ จะส่งเสริมเป้าหมายในด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. “เมืองแห่งการค้าชายแดน” ศักยภาพของด่านถาวรภูดู่ สามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้หลายมิติ รวมไปถึงด่านชายแดน ด่านประเพณี จุดผ่อนปรน ซึ่งจะเป็นช่องทางที่มีศักยภาพในอนาคต และการตั้งอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจ ทั้ง NSEC , EWEC และ LIMEC ประกอบกับโอกาสพลิกโฉมประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”

4. สันติภาพและความยุติธรรม (Peace)

10. “จังหวัดคุณธรรม” มีระบบการปกครองบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล ได้แก่ความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และการเป้นองค์กรคุณธรรมต้นแบบ

11. “การบริหารภาครัฐทันสมัย สะดวก” ความก้าวหน้าในการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับปรุงการให้บริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐให้มีประสิทธิภาพจะเป็นหลักประกันในการสร้างความน่าเชื่อถือและความพึงพอใจต่อประชาชน

12. “เมืองสงบ มั่งคง ปลอดภัย” เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยวัดจากจำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่พบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวมไปถึงการเน้นย้ำในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับร่างการ ชีวิต เพศ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปล้นทรัพย์/ชิงทรัพย์

และสุดท้ายทุกเป้าหมายร่วมจะบรรลุไม่ได้ถ้าปราศจาก ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดอุตรดิตถ์ทุกๆด้านที่กล่าวมา “ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพัฒนา”

Facebook Comments