องค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน เปิดรับลงทะเบียน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน

📣📣📣 องค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน เปิดรับลงทะเบียน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 
ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2562 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน ในวันและเวลาราชการ

👶 กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป รายละ 600 บาทต่อคน ต่อเดือน ดังนี้
(1) เด็กที่รับสิทธิในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 – 2561 (เด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561) ครบ 3 ปีแล้วสามารถรับต่อเนื่องไปจนอายุครบ 6 ปี (โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่) 
(2) เด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 ที่ไม่มีคุณสมบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ.2561 และไม่เคยได้รับสิทธิ แต่มีคุณสมบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ.2562 มีสิทธิรับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 (เดือนที่ยื่นขอรับสิทธิ) จนอายุครบ 6 ปี (กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยมาติดต่อขอรับลงทะเบียนฯ แต่เนื่องจากขาดคุณสมบัติ เช่น รายได้เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี เป็นต้น)
(3) เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 (1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562) มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนที่ได้มายื่นขอรับสิทธิ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 ได้รับสิทธินับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด จนอายุครบ 6 ปี 
(หากไม่ได้ลงทะเบียนภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จะได้รับเงินนับตั้งแต่วันที่ลงทะเบียน จนอายุครบ 6 ปี)

*** เหตุผลของการขยายฐานรายได้ของกลุ่มเป้าหมายการรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี เนื่องจากสอดคล้องกับการใช้ฐานเกณฑ์รายได้ของผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากนัก ครอบคลุมเด็กในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนเพิ่มขึ้น และไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิประโยชน์อื่นๆของรัฐบาลในปัจจุบัน

👶 เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนอายุครบ 6 ปี
(3) ต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร จากหน่วยงานของรัฐ (หมายถึง ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรเป็นประจำทุกเดือน เช่น ครอบครัวอุปถัมภ์ ยกเว้น เงินช่วยเหลือบุตรจากระบบประกันสังคม) หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน
(4) ต้องอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรืออยู่กับบิดาและมารดาที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออยู่กับมารดาถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่ปรากฏบิดา หรืออยูกับบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ปรากฏมารดา

👩 ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) เป็นบุคคลที่ได้รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะเพื่อเลี้ยงดูอย่างบุตร
(3) เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
(4) อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี

👩 ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มีดังนี้
(1) บิดาและมารดาที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งสองคน บิดาหรือมารดาสามารถยื่นลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เด็กอาศัยอยู่ โดยในการยื่นลงทะเบียนไม่ต้องรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
(2) กรณีมารดาถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ปรากฏบิดา (แม่เลี้ยงเดี่ยว) หรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (หมายถึง บิดาที่ได้จดทะเบียนสมรถกับมารดาของเด็ก หรือบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือบิดาที่ศาลสั่งให้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย) และมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สามารถยื่นลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เด็กแรกเกิดอาศัยอยู่ โดยไม่ต้องมีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
(3) กรณีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ปรากฏมารดา (พ่อเลี้ยงเดี่ยว) และบิดาเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สามารถยื่นลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เด็กแรกเกิดอาศัยอยู่ โดยไม่ต้องมีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
(4) บิดาและมารดาที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก และไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งสองคน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฝ่ายเดียว บิดาหรือมารดาสามารถยื่นลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เด็กอาศัยอยู่ แต่ต้องมีผู้รับรองว่าบิดาหรือมารดาผู้ยื่นลงทะเบียนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี (ดร.02)
(5) ผู้ปกครองที่ไม่ใช่บิดามารดาลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุน ต้องมีผู้รับรองจำนวน 2 คน โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้ปกครองที่ยื่นแบบคำร้องขอลงทะเบียนจะเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ผู้ปกครองต้องยื่นแบบคำร้องขอลงทะเบียนในพื้นที่ของเด็กแรกเกิดอาศัยอยู่ในท้องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

🏠 ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หมายถึง ครัวเรือนเด็กแรกเกิดที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี ทั้งนี้ ให้นับรวมรายได้ในรอบปีของสมาชิกทุกคนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนแห่งนั้นที่อยู่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 180 วัน ในรอบปีที่ผ่านมา
รายได้ หมายถึง รายได้ทั้งหมดของครัวเรือน ประกอบด้วย 
(1) ค่าจ้างและเงินเดือน เงินรางวัล เงินโบนัส เป็นต้น
(2) กำไรสุทธิจากการประกอบธุรกิจการเกษตรและธุรกิจอื่นๆ
(3) รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ย และเงินปันผล
(4) เงินได้รับเป็นการช่วยเหลือ บำเหน็จ บำนาญ เงินทุนการศึกษา
(5) รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน ได้แก่ มูลค่าของสินค้าและบริการที่ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เงินเดือน มูลค่าของสินค้าหรืออาหารที่ครัวเรือนผลิตและบริโภคเอง หรือได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ
(6) รายรับที่เป็นตัวเงินอื่นๆ เช่น เงินได้รับจากการประกันภัยหรือประกันชีวิต เงินรางวัลสลากกินแบ่ง และรายรับอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน
โดยไม่นับรวมรายได้ของสมาชิกที่อยู่น้อยกว่า 180 วัน ต่อปี และไม่นับรวมลูกจ้างที่เป็นสมาชิกครัวเรือน

✅ เอกสารประกอบการลงทะเบียน
(1) แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
(2) แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
(3) บัตรประจำตัวประชาชนของหญิงตั้งครรภ์/มารดา/บิดา หรือผู้ปกครอง
(4) สำเนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
(5) สำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ปรากฏชื่อหญิงตั้งครรภ์)
(6) สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด
(7) สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ที่จะขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ประเภทบัญชีออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ เผื่อเรียก) ของธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เว้นแต่ กรณีที่มีการผูกบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารเข้ากับเลขบัตรประจำตัวประชาชน (บัญชีธนาคารพร้อมเพย์) สามารถใช้สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากได้ทุกธนาคาร

Facebook Comments